เชื่อว่าคงมีหลายคนที่อยากสุขภาพดีหันมาทานผักผลไม้ แต่รับประทานผักทีไรกลับท้องอืดทุกที วันนี้ มาทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีป้องกันอาการท้องอืดกันค่ะ
สาเหตุ
สาเหตุของโรคท้องอืดมักเกิดจากอาหารหรือพฤติกรรมการกินเป็นหลัก โดยปัจจัยต่างๆดังต่อไปนี้
การรับประทานอาหารที่ย่อยยาก ได้แก่ ผักผลไม้ และนม
- การทานผักที่มีเส้นใยสูงในปริมาณมาก ผักที่มีเส้นใยสูง ร่างกายจะย่อยยากต้องใช้แบคทีเรียในลำไส้ช่วยย่อยซึ่งจะทำให้เกิดกรดบางอย่าง ซึ่งหากรับประทานผักคราวละมากๆ ก็จะทำให้ท้องอืดได้
- การรับประทานนม หรืออาหารที่มีส่วนผสมของนม เช่น ชาเย็น กาแฟเย็น ในน้ำนมจะมีน้ำตาลตัวหนึ่งชื่อว่าน้ำตาลแลคโตส น้ำตาลชนิดนี้ร่างกายบางคนจะย่อยได้ไม่ดีนัก ซึ่งหากรับประทานในปริมาณมากๆในมื้อเดียว กระบวนการย่อยจะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารทำให้ท้องอืดได้
การรับประทานยาบางอย่าง
- ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาปฏิชีวนะบางอย่าง จะทำให้กระเพาะและลำไส้บีบตัวน้อยลง
- ยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยาแก้ข้ออักเสบ ยาเหล่านี้เมื่อรับประทาน มีคุณสมบัติเป็นกรด ทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้กระเพาะเป็นแผล และอาหารไม่ย่อยได้ ยาเหล่านี้ควรรับประทานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากจำเป็นต้องรับประทานติดต่อกัน ควรรับประทานหลังอาหารทันที
อาการอาหารเป็นพิษ
ผู้ป่วยจากอาการอาหารเป็นพิษ จะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดหรือบูดเสีย มีเชื้อโรคปนเปื้อน ทั้งในผักผลไม้ เนื้อสัตว์ หรือน้ำดื่ม สารพิษหลายชนิดทนต่อความเป็นกรดและด่างในกระเพาะอาหาร บางชนิดอาจทนความร้อนแม้ปรุงสุกก็ไม่สามารถทำลายสารพิษได้ เมื่อเราได้รับสารพิษพวกนี้เข้ามาในร่างกาย ร่างกายจะต่อต้านเกิดอาการพะอืดพะอม ท้องอืดท้องเฟ้อ อาเจียน วิงเวียนศรีษะ และมักมีอาการท้องเสียร่วมด้วยเพื่อขับของเสียออก
ผู้ป่วยจากอาการอาหารเป็นพิษ จะมีอาการรุนแรงกว่าท้องอืดท้องเฟ้อทั่วไป ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำ น้ำตาลเกลือแแร่ ช่วงนี้ท้องจะไม่ค่อยรับอาหารอาจทานอาหารที่อ่อนๆ เช่นข้าวต้มทีละน้อย โดยยปกติแล้วโรคจากอาหารเป็นพิษจะหายได้เองในเวลา 2-3 วัน แต่หากมีอาการรุนแรง ร่างกายอ่อนเพลียมาก ปวดศรีษะอาเจียนหลายหนก็ไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์
แอลกอฮอล์ กาเฟอีน และบุหรี่ การสูบบุหรี่
เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โซดา น้ำอัดลม ก็มีส่วนทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และทำให้อาหารไม่ย่อยด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยง
โรคในระบบทางเดินอาหาร
พฤติกรรมการรับประทานอาหาร
พฤติกรรมการกินบางอย่าง เช่น การปล่อยให้หิวจัด กินอาหารเร็วเกินไป เคี้ยวไม่ละเอียด การรับประทานอาหารครั้งละมากๆ การรับประทานอาหารที่มีรสจัด พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
จากโรคอื่นๆ
ได้แก่ นิ่วในถุงน้ำดี โรคที่เกี่ยวกับตับอ่อน เบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ หากเป็นโรคเหล่านี้ควรไปให้หมอตรวจดีที่สุด
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอาการท้องอืด
เมื่อทราบถึงสาเหตุการเกิดอาการท้องอืดแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังนี้
- รับประทานอาหารช้าๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
- ไม่รับประทานอาหารครั้งละมากๆ สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องระบบการย่อยอาหาร อาจแบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ วันละ 4-5 มื้อเพื่อลดการทำงานหนักของกระเพาะอาหาร
- ผักผลไม้ที่มีเส้นใยจะใช้เวลาย่อยนาน ควรทานในปริมาณที่พอดี ผักที่ผ่านความร้อน เช่นต้ม หรือลวก จะย่อยได้ง่ายกว่าผักสด
- ผู้ที่ดื่มนมแล้วมีอาการท้องอืด หรือท้องเสีย อาจจะขาดน้ำย่อยที่ใช้ในการย่อยนม ควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานให้น้อยลง อาจรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมชนิดอื่นได้บ้างเช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต หรือชีสต่างๆ
- เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขอนามัย
-
รับประทานนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตเป็นประจำ ในนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตจะมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเข้ามาปรับสมดุลในระบบการย่อยอาหารของเรา ช่วยลดปัญหาโรคท้องอืดท้องเฟ้อได้อีกทางหนึ่ง แต่ควรทานแต่พอดีด้วยนะคะ โยเกิร์ตรับประทานครั้งละ 1 ถ้วย ถ้าเป็นนมเปรี้ยวรับประทานครั้งละ 70-100 cc ก็เพียงพอแล้วค่ะ อาจไม่ต้องทานทุกวันก็ได้ แต่ทานให้สม่ำเสมออย่างน้อยซัก 2-3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ก็ได้ค่ะ
-
ลด ละ เลิกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โซดา น้ำอัดลม และบุหรี่
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เมื่อมีอาการท้องอืดเบื้องต้น ลองรับประทานยาขับลม ได้แก่ ยาธาตุน้ำแดง ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เช่น อีโน ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการท้องอืดบ่อยๆควรไปพบแพทย์ดีที่สุด
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์
อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ถ้าเป็นไม่บ่อย ก็ไม่น่ากังวล แต่หากเป็นควบคู่อาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นโรคร้ายแรงได้ ควรไปให้แพทย์ตรวจ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของโรค
- ผู้ป่วยมีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากพบว่าคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปอาจมีความเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือตับ
- มีอาการน้ำหนักลดร่วมด้วย
- มีอาการซีด ถ่ายอุจจาระดำ
- มีอาเจียนติดต่อกัน หรือกลืนอาหารไม่ได้
- ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีก้อนในท้อง
- ปวดท้องมาก
- ท้องอืดแน่นท้องมาก
- การขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็น เช่น อาการท้องผูกมากขึ้น จนต้องกินยาระบายหรืออาการท้องผูกสลับท้องเดิน
ขอบคุณแหล่งอ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม