ว่าด้วยอาหารต่างๆ บางเมนูก็มีชื่อชวนให้สงสัยว่าชื่อนี้ได้ท่านแต่ใดมา เช่น “ไข่ลูกเขย” ลูกเขยมาเกี่ยวอะไรกะเมนูนี้!? ทำไมถึงชื่อไข่ลูกเขย ซึ่งยังคงหาที่มาไม่ได้ ยังมีอีกมากมายเอาไว้วันหลังจะ Easycooking จะไปหาคำตอบมาเล่าให้ฟังนะคะ
สำหรับวันนี้ที่จะพูดถึงก็คือ เมนูงงๆที่ชื่อกับวัตถุดิบไปกันคนละทาง สร้างความสับสนให้หลายคนมาแล้ว บางเมนูไม่รู้สมัยก่อนเขาคิดยังไงถึงตั้งชื่อนี้ มีอะไรบ้างไปดูกันน
ไก่สามอย่าง
เมนูนี้น่าจะเป็นเมนูชื่อแปลกสุดสำหรับเรา เพราะชื่อเมนู ไก่สามอย่าง แต่วัตถุดิบกลับไม่มีไก่ซักกะชิ้น
ไก่สามอย่าง ความจริงแล้วคือชื่อเมนูกับแกล้มสำหรับวงเหล้า วัตถุดิบประกอบด้วยเครื่องเคียงต่างๆ ได้แก่ กุ้งแห้ง ถั่วลิสง หอมแดง ขิง ตะไคร้ กระเทียมโทน พริกขี้หนู และมะนาว ทุกอย่างหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เวลาทานก็จะตักทุกอย่างใส่ช้อนทานพร้อมกันในคำเดียว รสชาติเปรี้ยว เค็ม มัน หอมสมุนไพร เหมาะเป็นกับแกล้มในงานเลี้ยงสังสรรเป็นอย่างดี ซึ่งจากที่เล่ามา ไม่มีเนื้อไก่อยู่เลย แล้วทำไมชื่อไก่สามอย่างล่ะ?
*เวลาทานก็ตักใส่ช้อนเป็นคำแบบนี้
ประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อสมัยเป็นเด็กน้อยทำงานพาทไทม์ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีแขกสั่งอาหารที่อยู่นอกเมนูคือ ไก่สามอย่าง เราก็เข้าไปถามพ่อครัวว่าทำเป็นมั้ย พ่อครัวตอบว่าได้ ซักพักก็ทำไอจานอย่างในรูปมาให้เราเอาไปเสิร์ฟ เราถามย้ำพ่อครัวอีกรอบ “แขกสั่งไก่สามอย่างนะพี่” พ่อครัวก็บอก “นี่ล่ะไก่สามอย่าง” เราก็จำใจถือไปเสิร์ฟแบบกล้าๆกลัวๆ ตอนเสิร์ฟก็แอบมองสีหน้าแขก คิดในใจจะโดนด่าเป่าว๊ะ แต่ปรากฏลูกค้าสีหน้าเรียบเฉย คิดในใจคงใช่ละมั้ง 555+ รู้จักไก่สามอย่างครั้งแรกก็วันนั้นละค่ะ ^ ^
สรุป ไก่สามอย่างก็คือกับแกล้มอย่างนึงที่ไม่มีไก่อยู่เลย ดังนั้นใครเห็นเมนูนี้ในรายการอาหารอย่าเผลอสั่งข้าวเปล่าเชียวนะคะ อายเค้า 555
ยังไม่แน่ชัดว่าที่มาของชื่อไก่สามอย่างมาจากอะไร บ้างก็ว่าสมัยก่อนมีขี้เมากลุ่มนึงอยากกินไก่ ผัวเลยสั่งให้เมียทำเมนูไก่มาซัก 3 อย่าง เมียซึ่งไม่มีเนื้อไก่ในครัวก็ทำกับแกล้มโดยใช้วัตถุดิบเท่าที่มีมาให้ ผัวและเพื่อนซึ่งกำลังเมาก็กินกันจนลืมไปว่าสั่งให้ทำเมนูไก่ กลายเป็นที่มาของเมนูไก่สามอย่าง..
อีกเรื่องเล่านึงก็ว่าสมัยยุคข้าวยากหมากแพง เนื้อไก่หายาก แล้วมีคนแกล้งขี้เมาโดยทำเมนูนี้ให้กิน แล้วบอกว่า ในนี้มีไก่อยู่สามอย่าง ลองหาให้เจอซิ
ปล. ที่มาชื่อนี้ยังไม่แน่ชัด ไม่รู้จริงรึป่าว ใครมีข้อมูลดีๆมาเล่าสู่กันฟังได้ค่ะ
ผัดพริงขิง
เมนูไทยๆจานนี้ดูผ่านๆอาจไม่มีอะไรแต่หากทราบถึงวัตถุดิบในการทำก็จะงงๆหน่อย เพราะเมนูนี้ชื่อว่าผัดพริกขิง แต่ความจริงแล้วกลับไม่มีขิงเป็นวัตถุดิบในจานนี้เลย
ผัดพริกขิง วัตถุดิบคือพริกแกงเผ็ดประกอบด้วย รากผักชี กระเทียม พริกไทย พริกแห้ง กะปิ ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด กระชาย (มีอีกหลายสูตรวัตถุดิบต่างกันไปบ้าง) นำมาผัดกับน้ำปลา น้ำตาล ใส่ผักมักเป็นถั่วฝักยาว หรือผักบุ้ง ใบมะกรูด เนื้อสัตว์ตามชอบ รสชาติไม่เผ็ดออกหวานนิดหน่อย สอบถามจากจากผู้ใหญ่ท่านว่า ที่เรียกชื่อผัดพริกขิงก็เพราะเมนูนี้เป็นเมนูผัดพริกแกงแต่จะผัดแบบรสไม่เผ็ดมากคล้ายรสเผ็ดอ่อนๆของขิง
ข้อสันนิษฐานอีกอย่างนึงก็คือคำว่าพริกขิงเป็นคำรวมเรียกรวมๆของพริกแกงที่ประกอบด้วยวัตถุดิบหลายอย่าง โดยในตำราทำอาหารยุคเก่ามักใช้คำว่า “เครื่องพริกขิง” หรือ “พริกขิงผัด” แทนคำว่า “พริกแกง” ในปัจจุบัน ก็อาจเป็นอีกสาเหตุของชื่อเมนูผัดพริกขิงก็เป็นได้ค่ะ
*ดูสูตรเมนูผัดพริกขิงปลาฟูที่นี่ค่ะ >>
สาคูไส้หมู
สาคูไส้หมูฟังดูก็ไม่มีอะไรน่าแปลก แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าสาคูที่ขายกันสมัยนี้ หลายร้านไม่มีหมูเป็นส่วนผสมนะคะ
สาคูไส้หมูเป็นขนมโบราณ เดิมทีตัวไส้ประกอบด้วย ถั่วลิสง หมูสับ น้ำตาลปี๊บ และเครื่องเทศ เคี่ยวจนข้นนำมาปั้นเป็นไส้สาคู แต่ในปัจจุบันแม่ค้าขนมสาคูหลายๆร้านมักไม่ใส่หมูสับเป็นส่วนผสมในไส้ ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุผลใดร้านขนมถึงตัดหมูสับออกจากส่วนผสม เพื่อลดต้นทุน หรือเพื่อความสะดวก?
เราเคยลองทานทั้งแบบที่ขายตามร้านไม่ใส่หมู และแบบทำเองใส่หมูสับ ก็ต้องยอมรับว่ารสชาติมีความใกล้เคียงกัน เนื่องด้วยรสของถั่วเครื่องเทศต่างๆเมื่อผัดกับน้ำตาลปี๊บทำให้กลมกลืนกัน จนทำให้รู้สึกถึงรสชาติจากเนื้อหมูไม่มากนัก นี่อาจเป็นเหตุผลที่แม่ค้าขนมสาคูเลือกตัดเนื้อหมูออกไปจากส่วนผสมก็เป็นได้ แต่ยังไงซะส่วนตัวเราก็ยังชอบสาคูที่ตัวไส้มีเนื้อหมูผสมมากกว่าค่ะ เพราะในหมูสับมีความมันและเนื้อสัมผัสบางอย่างที่แตกต่างจากไส้ถั่วธรรมดาค่ะ
*ดูสูตรขนมสาคูไส้หมูที่นี่ค่ะ >>
ปูอัด
ปูอัด ที่เราทานเล่นกัน ชื่อปูแต่ความจริงแล้ว ปูอัด ทำมาจากปลาบด ผสมกับไข่ขาว แป้งและปรุงรส แต่งเติมด้วยกลิ่นปูให้ได้กลิ่น และรสชาติคล้ายปู
การทำปูอัดเริ่มต้นมาจาก การคิดนำเนื้อปลาตัวเล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่ปกติก็จะถูกทิ้งหรือนำไปบดเป็นอาหารสัตว์ จนมีบริษัทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นเห็นว่าปลาตัวเล็กๆเหล่านี้ยังมีประโยชน์ จึงได้นำเนื้อปลาหลากหลายชนิดที่มีขนาดเล็กมาบด และนำมาผสมแป้งพร้อมเครื่องปรุงนำมาตกแต่งกลิ่น และสีให้ดูเหมือนปูจริงๆ ที่ญี่ปุ่นจะเรียกกันว่า ” ปูอัด ” หรือ “ซูริมิ Surimi” ในภาษาญี่ปุ่น
ปูอัดในบ้านเรามีหลายเกรด ถ้าแพงหน่อยก็เนื้อปลาเยอะหน่อย แต่ถ้าถูกหน่อยก็หนักไปทางแป้งค่ะ เราเคยกินทั้งแบบถูกและแบบแพง เอาเป็นว่าอยากกินของอร่อยยอมจ่ายแพงขึ้นอีกนิดแล้วกันนะจ๊ะ
ไข่กุ้ง
ไข่กุ้งที่เราทานในอาหารญี่ปุ่น ลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆใสๆเวลาทานแล้วกรุบๆ รสเค็มอ่อนๆ ความจริงก็ไม่ใช่ไข่ที่มาจากกุ้ง แต่มันคือ ไข่ปลาค่ะ ซึ่งไข่ปลาที่นำมาทำก็ได้แก่ ไข่ปลาคอด ,ไข่ปลาแคปลิน(หรือปลาไข่) และ ไข่ของปลาบิน (Flying Fish) หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า โทบิอุ (Tobiuo) และเรียกไข่ของมันว่า โทบิโกะ (Tobiko)
ไข่กุ้ง (ซึ่งคือไข่ปลา) ส่วนใหญ่จะเป็นสีส้ม แต่ยังมีไข่กุ้งสีอื่นๆด้วยซึ่งเกิดจากการย้อมสีจากทั้งสีจากธรรมชาติ และสีผสมอาหาร
ไข่กุ้งในบ้านเรามักจะมาจากไข่ปลาแคปลินซะเยอะ แต่ไข่กุ้งจริงๆก็มีนะคะที่ญี่ปุ่นเรียกว่า เอบิโกะ (Obiko) แต่หายากและมีราคาแพงค่ะ
แกงส้ม ส้มตำ ปลาส้ม
ชื่ออาหารต่างๆที่มีคำว่าส้ม อันนี้เชื่อว่าทุกคนคงคุ้นเคยกันดี แล้วทำไมต้องมีคำว่าส้มแต่ไม่ใส่ส้ม สำหรับคำตอบหลายคนถ้าเป็นคนต่างจังหวัดคงเดากันได้ เพราะคำว่าส้มในภาษาท้องถิ่นแปลว่าเปรี้ยว ดังนั้นอาหารที่มีคำว่าส้มก็คือเมนูอาหารที่มีรสออกเปรี้ยวด้วยนั่นเอง
ก็เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับอาหารนะคะ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ ^ ^